การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปิดขบวนนำเที่ยวอีกครั้งหลังจากห่างหายไปนานเพราะสถานการณ์ของโรคระบาดโควิด 19 การรถไฟมีการจัดขบวนท่องเที่ยวแบบ one day trip ไปในหลายสถานที่ด้วยกัน สามารถดูได้ในระบบ D-Ticket ของการรถไฟ ขบวนรถไฟนำเที่ยวกาญจนบุรีไปน้ำตกไทรโยคน้อย เปิดให้บริการขบวนรถท่องเที่ยว ขบวนรถพิเศษนำเที่ยวที่ 909/910 กรุงเทพ – น้ำตก – กรุงเทพ เปิดนำเที่ยวทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ ยกเว้นช่วงปีใหม่และวันสงกรานต์เท่านั้น
นักท่องเที่ยวที่มีความประสงค์ท่องเที่ยวกับการรถไฟสามารถจองที่สถานีรถไฟ หรือ จองผ่านระบบ D-Ticket (https://www.dticket.railway.co.th)
หรือโทรสอบถามรายละเอียดที่เบอร์โทร 1690
ขบวนรถท่องเที่ยว ขบวนรถพิเศษนำเที่ยวที่ 909/910 กรุงเทพ – น้ำตก – กรุงเทพ มี 2 ประเภทให้เลือกคือ ขบวนรถปรับอากาศชั้น2 ราคา ไป-กลับ 240 บาท/คน และ ขบวนรถธรรมดาไม่ปรับอากาศชั้น3 ราคา ไป-กลับ 120 บาท/คน
เส้นทางท่องเที่ยวรถไฟสายมรณะ สะพานข้ามแม่น้ำแคว เป็นจุดมุ่งหมายที่ผู้คนจากทั่วโลกตั้งใจมาเที่ยวให้ได้สักครั้ง เพราะเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่คงความขลังและสะท้อนบทเรียนของมนุษยชาติเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เส้นทางรถไฟแล่นเลาะเชิงผาเรียบไปกับลำน้ำแควน้อย เป็นที่สุดของเส้นทางรถไฟที่มีวิวงดงามเป็นเอกลักษณ์
ขบวนรถท่องเที่ยว ขบวนรถพิเศษนำเที่ยวที่ 909/910 กรุงเทพ – น้ำตก – กรุงเทพ เริ่มออกเดินทางจากสถานีรถไฟกรุงเทพ หัวลำโพง เวลา 6.30 น. ออกตรงตามเวลา ห้ามมาสายเด็ดขาด เมื่อรถไฟออกเดินทางมาเวลาประมาณ 7.45 น. จะมาหยุดที่สถานีนครปฐมให้นักท่องเที่ยวได้สักการะพระปฐมเจดีย์ และเลือกซื้อของ ประมาณ 35 นาที จากสถานีนครปฐมนักท่องเที่ยวสามารถเดินตรงไปก็จะเจอองค์พระปฐมเจดีย์ และตลาดเช้า มีของขายมากมาย
ออกเดินทางจากสถานีนครปฐม มุ่งหน้าสู่ จ.กาญจนบุรี ระหว่างนี้พนักงานการรถไฟ จะประกาศอธิบายการนำเที่ยวและนำเสนอขายของฝากประจำท้องถิ่นของกาญจนบุรี และ ราชบุรี สามารถสั่งได้โดยจ่ายเงินสดและรับของฝากที่ฝากซื้อตอนขากลับ
เวลาประมาณ 9.35 น. มาถึงสถานีสะพานข้ามแม่น้ำแคว หรือเส้นทางประวัติศาสตร์สายมรณะ รถไฟจะจอดให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาย และ พักผ่อนตามอัธยาศัย ประมาณ 25 นาที
ประวัติสะพานข้ามแม่น้ำแคว เส้นทางรถไฟสายมรณะ
สะพานข้ามแม่นำแควมีความสำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง เป็นสะพานที่สำคัญที่สุดของเส้นทางรถไฟสายมรณะ สร้างขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ ทหารอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย ฮอลันดา และนิวซีแลนด์ ประมาณ 61,700 คน สมทบด้วยกรรมกรชาวจีน ญวน ชวา มลายู ไทย พม่า และอินเดีย อีกจำนวนมาก มาก่อสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นเส้นทางผ่านไปสู่ประเทศพม่า ซึ่งเส้นทางช่วงหนึ่งจะต้องข้ามแม่น้ำแควใหญ่ จึงต้องมีการสร้างสะพานขึ้น การสร้างสะพานและทางรถไฟสายนี้ เต็มไปด้วยความยากลำบาก ความทารุณของสงครามและโรคภัย ตลอดจนการขาดแคลนอาหาร ทำให้เชลยศึกหลายหมื่นคนต้องเสียชีวิตลง
สะพานข้ามแม่น้ำแควใช้เวลาสร้างเพียง 1 เดือน โดยนำเหล็กจากมลายูมาประกอบเป็นชิ้น ๆ ตอนกลางทำเป็นสะพานเหล็ก 11 ช่วง หัวและโครงสะพานเป็นไม้ มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2487 ได้ถูกทิ้งระเบิดหลายครั้งจนสะพานหักท่อนกลาง ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง รัฐบาลไทยได้ซ่อมแซมใหม่ด้วยเหล็กรูปเหลี่ยม เมื่อปี พ.ศ. 2489 จนสามารถใช้งานได้ ปัจจุบัน มีการยกย่องให้เป็น สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ
ออกเดินทางจากสถานีสะพานข้ามแม่น้ำแคว มุ่งหน้าสู่สถานีน้ำตกไทรโยคน้อย เส้นทางรถไฟจะผ่านสถานีถ้ำกระแซ ซึ่งถือเป็นเส้นทางสายประวัติศาสตร์ที่ยังเปิดใช้งานอยู่ สร้างโดยเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร เป็นเส้นทางที่สวยที่สุดเส้นหนึ่ง โดยลัดเลาะไปตามหน้าผาและป่าโปร่ง น่าเสียดายที่ทางรถไฟไม่ได้จอดที่สถานีนี้เพื่อท่องเที่ยว
มาถึงสถานีน้ำตกไทรโยคน้อย เวลาประมาณ 11.30 น. มีเวลาให้นักท่องเที่ยวได้ท่องเที่ยวและพักผ่อนที่น้ำตกประมาณ 3 ชั่วโมง และขบวนรถไฟกลับจากน้ำตกไทรโยคน้อยไปยังกรุงเทพฯเวลา ประมาณ 14.25 น.
น้ำตกไทรโยคน้อยเดิมเรียกน้ำตกเขาพัง ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค กองทัพญี่ปุ่นได้ก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะผ่านบริเวณน้ำตกไทรโยคน้อยเพื่อเขาสู่ประเทศพม่า
ด้านบนน้ำตกไทรโยคน้อย มีร้านกาแฟ ห้องน้ำให้บริการ และ มีถ้ำไทรโยค ซึ่งมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายใน สามารถเข้าไปไหว้ขอพรได้
เวลา 14.25 น. รถไฟออกเดินทางจากสถานีน้ำตกไทรโยคน้อย และไปแวะที่สถานีกาญจนบุรี ให้นักท่องเที่ยวได้ท่องเที่ยวและพักผ่อน ที่สถานีกาญจนบุรีนักท่องเที่ยวสามารถเดินไปเที่ยวที่สุสานทหารพันธมิตรได้ จากสถานีกาญจนบุรีเดินตรงไปผ่านตลาดถนนคนเดิน เดินไปประมาณ 300 เมตรจนถึงถนนเส้นหลักให้เลี้ยวซ้ายเดินไปประมาณ 100 เมตร แล้วข้ามถนนไป ก็จะเจอสุสานทหารพันธมิตร
รถไฟออกจากสถานีกาญจนบุรีเวลา 17.00 น. มุ่งหน้ากลับสู่กรุงเทพฯ ถึงสถานีกรุงเทพฯ เวลาประมาณ 19.25 น.
สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก” หรือ “สุสานทหารสหประชาชาติ” หรือที่ชาวจังหวัดกาญจนบุรีทั่วไปเรียกว่า “ป่าช้าอังกฤษ” เป็นสุสานขนาดใหญ่บนพื้นที่ 17 ไร่ บรรจุศพเชลยศึกที่เสียชีวิตระหว่างการสร้างทางรถไฟสายมรณะถึง 6,982 หลุม โดยเชลยศึก 300 คนเสียชีวิตด้วยอหิวาตกโรคและฝังไว้ที่ค่ายนิเกะ (ประมาณ 15 กิโลเมตร ก่อนถึงด่านเจดีย์สามองค์) ส่วนที่เหลือได้จากหลุมฝังศพเชลยศึกตามค่ายต่างๆและยังมีสุสานช่องไก่ ซึ่งรัฐบาลไทยและฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตกลงกันเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2497 เพื่อสร้างสุสานสองแห่งนี้ขึ้น
บรรยากาศในสุสานเงียบสงบและร่มรื่น พื้นที่ภายในได้รับการตกแต่งไว้อย่างเป็นระเบียบสวยงาม เหนือหลุมฝังศพทุกหลุมมีแผ่นทองเหลืองจารึก ชื่อ อายุ และประเทศของผู้เสียชีวิต บรรทัดสุดท้ายเป็นคำไว้อาลัยที่โศกเศร้า ทุกปีจะมีวันที่รำลึกถึงผู้เสียชีวิตเฉพาะของคนชาติต่างๆ