วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เดิมชื่อวัดแหลม หรือ วัดไทรทอง ต่อมาได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)ให้ใหม่ว่า วัดเบญจบพิตร ซึ่งหมายถึง วัดของเจ้านาย 5 พระองค์ ชื่อเต็มคือ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เป็นวัดประจำพระราชวังดุสิต วัดเบญจมบพิตรฯ ตั้งอยู่ที่ถนนศรีอยุธยา บริเวณถนนพระรามที่ 5 แขวงดุสิต เขตดุสิต กทม. สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 8.30 – 17.30 น.
การเดินทางไปวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT
เนื่องจากวัดเบญจมบพิตร ไม่ได้อยู่ในเส้นทางรถไฟฟ้า สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่อยู่บริเวณใกล้เคียงที่สุดคือ นั่งรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน มาลงที่สถานีสามยอด เลือกออกทางออกประตู 1 จากนั้นต่อด้วยรถแท็กซี่ ค่าโดยสารประมาณ 60 บาท กรณีที่การจราจรปกติไม่หนาแน่น
กรณีที่ขับรถไปเองสามารถจอดรถได้ที่ลานจอดรถบริเวณหน้าวัดเบญจบพิตรดุสิตวนาราม
ประวัติวัดเบญจบพิตรดุสิตวนาราม
วัดเบญจบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร WAT BENCHAMABOPHIT DUSIT WANARAM RATCHAWORAWIHAN เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร เดิมเป็นวัดเก่าแก่เล็กๆ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อว่า วัดแหลม เพราะตั้งอยู่ปลายแหลมของที่สวนติดกับทุ่งนา และมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดไทรทอง เนื่องจากมีต้นไทรทองปรากฏอยู่ให้เห็น เมื่อปี พ.ศ. 2370 พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ พระราชโอรสในรัชกาลที่2 ได้ทรงตั้งกองทัพรับกบฏเจ้าอนุวงศ์ที่วัดนี้ หลังจากเสร็จจากการปราบกบฎแล้ว ได้ทรงปฎิสังขรวัด พร้อมกับสร้างพระเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ 5องค์ เรียงรายอยู่หน้าวัด ต่อมารัชกาลที่4 ได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดเบญจมบพิตร
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2442 รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างสวนดุสิตและพระราชวังดุสิต กินเนื้อที่ของวัดทำให้วัดมีพื้นที่น้อยลง ประกอบกับวัดกำลังมีสภาพทรุดโทรม พระองค์จึงทรงสถาปนาวัดใหม่ พร้อมกับเปลี่ยนนามวัดเป็น วัดเบญจบพิตรดุสิตวนาราม หมายถึงวัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ใกล้สวนดุสิตอันเป็นพระราชฐาน พระอุโบสถทั้งหลัง สร้างด้วยหินอ่อน จากประเทศอิตาลี มีพระประธานเป็นพระพุทธชินราชจำลองมาจากองค์จริงที่จังหวัดพิษณุโลก
พระอุโบสถ เป็นอาคารทรงจตุรมุข มีมุขเด็จยื่นออกมาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หลังคาซ้อนกัน 5 ชั้น มุงกระเบื้องกาบูสีเหลืองเป็นกาบโค้ง
ปี พ.ศ.2434 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จไปราชการที่ประเทศอินเดีย และได้หน่อต้นพระศรีมหาโพธิ 3 ต้นจากพุทธคยา และได้ถวายต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาปี พ.ศ. 2442 ขณะที่ทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนำ 1 ใน 3 ต้น มาปลูกไว้ที่สนามหญ้าด้านหลังพระอุโบสถ
หอระฆังบวรวงศ์ เป็นหอระฆังทรงไทย หลังคาลดชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสี ผนังด้านนอกประกอบด้วยหินอ่อน สร้างด้วยทุนทรัพย์และวัสดุก่อสร้าง ของผู้ที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และโปรดเกล้าฯ ให้นำระฆังจากวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ซึ่งเป็นวัดประจำพระราชวังบวรสถานมงคล จึงทรงตั้งชื่อหอระฆังนี้ว่า หอระฆังบวรวงศ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รื้อพระที่นั่งทรงผนวชองค์เดิม จากพุทธรัตนสถาน ที่สวนศิวาลัย ภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระองค์เคยประทับในคราวทรงผนวช เมื่อ พ.ศ.2416 มาปลูกสำหรับเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดเบญจบพิตรดุสิตวนาราม ลักษณะเป็นหมู่กุฏิประกอบด้วย พระที่นั่งทรงผนวช อยู่ด้านทิศเหนือ พระกุฏิ อยู่ด้านทิศใต้ กับกุฏิ 2 ห้อง 2 หลัง อยู่ด้านตะวันออก และตะวันตก มีหอเสวยกลาง มีลานหินอ่อนโดยรอบ ภายในพระที่นั่งทรงผนวช มีพระแท่นบรรทม พระบรมรูป เมื่อครั้งทรงผนวช พระบรมรูปสลักหินอ่อน พระพุทธรูป พระเสลี่ยงน้อย ที่ผนังเขียนภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ พระราชประวัติ พระราชจริยาวัตร ขนบธรรมเนียมประเพณีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 20 ภาพ