หมู่บ้านห้วยน้ำใส สวนผึ้ง ตั้งอยู่ที่ ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ของชาวมอญไทยรามัญ หมู่บ้านตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาในเขตตะเข็บชายแดนเทือกเขาตะนาวศรี ระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 171 กิโลเมตร ใช้เวลาขับรถยนต์ส่วนตัวไม่ถึง 3 ชั่วโมงก็มาถึง มีเวลาว่างแค่เสาร์อาทิตย์ก็สามารถมาเที่ยวได้ง่ายๆ
ประชากรในอำเภอสวนผึ้งส่วนใหญ่ราวร้อยละ 90 เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน เนื่องจากทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอสวนผึ้งมีเขตติดต่อกับอำเภอมะริด จังหวัดทวาย เขตตะนาวศรี ประเทศพม่า เป็นอำเภอบนพื้นที่สูงของจังหวัดราชบุรี โอบล้อมด้วยภูเขา มีแม่น้ำลำภาชีไหลผ่าน จึงมีสภาพอากาศเย็นสบายคล้ายกับภาคเหนือของไทย
ซึ่งจะเห็นได้จากคำขวัญของอำเภอสวนผึ้งที่กล่าวว่า สาวกะเหรี่ยงเคียงถิ่นตะนาวศรี ลำภาชีแก่งส้มแมวแนวหินผา ธารน้ำร้อนปอคลึงตรึงติดตา น้ำผึ้งป่าหวานซึ้งติดตรึงใจ
เมื่อมาที่หมู่บ้านมอญห้วยน้ำใส เราจะได้ยินชาวบ้านที่นั่นพูดทักทายนักท่องเที่ยวด้วยคำว่า มะเงอระอาว ซึ่งเป็นคำท้องถิ่นของชาวมอญบ้านห้วยน้ำใส กล่าวสวัสดีต่อกัน
ที่หมู่บ้านห้วยน้ำใสเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีประชากรประมาณ 70 ครัวเรือนอาศัยอยู่ท่ามกลางธรมชาติ ชาวบ้านที่นี่อาศัยใช้ชีวิตด้วยความสงบ ภายในหมู่บ้านห้วยน้ำใสระหว่างริมทางเดินจะตกแต่งด้วยกำแพงรั้วไม้ไผ่ เห็นแล้วให้ความรู้สึกเหมือนลักษณะหมู่บ้านของคนญี่ปุ่น นักท่องเที่ยวชาวไทยได้ให้นิยามหมู่บ้านมอญห้วยน้ำใสแห่งนี้ว่า หมู่บ้านแม่กำปอง 2 เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกับหมู่บ้านแม่กำปอง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังของจังหวัดเชียงใหม่
กิจกรรมที่ไม่ควรพลาด เมื่อมาเที่ยวที่หมู่บ้านห้วยน้ำใส คือ “จู๊ดเปอป๊าด” หรือตักบาตรพระตอนเช้า ซึ่งเป็นประเพณีวัฒนธรมที่มีเอกลักษณ์ของชาวมอญห้วยน้ำใส โดยชาวบ้านจะปูเสื่อนั่งกับพื้น รอพระมารับบิณฑบาตร โดยกิจกรรมนี้จะมีเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ พระมารับบิณฑบาตรเริ่มตั้งแต่เวลา 08:00 น. เป็นต้นไป
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการทำบุญใส่บาตรพระ ในหมู่บ้านจะมีชุดชะลอมสำหรับใส่บาตร เป็นของชาวบ้านมอญห้วยน้ำใสนำมาจัดจำหน่าย ตามเส้นทางก่อนจะถึงสถานที่พระมารับบิณฑบาตร ในราคาย่อมเยาว์ชุดละ 40-60 บาท ทำไว้เป็นชุดประกอบด้วย ข้าวสวย กับข้าว ขนม หรือเป็นชุดถวายสังฆทาน มีให้เลือกซื้อ
เมื่อได้ชุดสำหรับใส่บิณฑบาตรพระแล้ว สามารถไปเลือกที่นั่งซึ่งชาวบ้านได้ปูเสื่อรอเตรียมไว้ได้เลย เมื่อถึงเวลาที่พระมารับบิณฑบาต ชาวมอญจะหามระฆังและตีส่งสัญญาณ จากนั้นพระสงฆ์จากสำนักสงฆ์ห้วยน้ำใส ก็จะเดินเรียงแถวมาเพื่อรับบิณฑบาตรจากญาติโยม นักท่องเที่ยว ตามด้วยขบวนชาวมอญแต่งตัวสวยงามตามแบบฉบับสาวชาวมอญ ซึ่งจะเป็นผู้หญิงแบกถาดสิ่งของ คนโทน้ำ และข้าวปลาอาหารต่างๆ ที่จะนำไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ และปิดท้ายด้วยนางรำของชาวมอญ และหลังจากใส่บิณฑบาตรพระเสร็จแล้ว นักท่องเที่ยวสามารถวางชะลอมไว้บนเสื่อได้เลย ชาวบ้านจะมาเก็บชะลอมในภายหลัง
นอกจากกิจกรรมใส่บาตรพระแล้ว ยังมีตลาดเล็กๆ ของหมู่บ้านชาวมอญซึ่งมีผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น อาหารพื้นเมืองให้เลือกซื้อเลือกชิม และผลไม้ประจำฤดูกาลต่างๆ
เมื่อมาถึงหมู่บ้านห้วยน้ำใสแล้วอย่าลืมไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองประจำหมู่บ้านของชาวบ้านห้วยน้ำใสคือ หลวงปู่เหมราชย์ หากต้องการขอพรสามารถเขียนสิ่งที่ปรารถนาขอพรลงบนแผ่นไม้ไผ่ และผูกไว้กับราวไม้ไผ่ด้านข้างศาลปู่เหมราชย์
และหากใครเป็นคนที่ชื่นชอบอาหารป่า ไม่ควรพลาดร้านอาหารที่อยู่ในหมู่บ้านห้วยน้ำใส คือร้านครัวตะนาวศรี อาหารมีรสชาติเข้มข้น จัดจ้าน ในราคาที่สมเหตุสมผล