วัดร้องแง เป็นอีกวัดหนึ่งในอำเภอปัวที่มีศิลปะ และมีเอกลักษณ์ของชุมชนอำเภอปัวที่บ่งชี้ว่าสืบเชื้อสายจากชาวไทลื้อ วัดร้องแง ตั้งอยู่ที่บ้านร้องแง หมู่ที่ 7 ตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน
วัดร้องแงเป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2310 คำว่า ร้องแง นั้นมาจากคำว่า ฮ่อง ซึ่งเป็นภาษาไทลื้อ แปลว่าร่องน้ำ และคำว่า แง เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งสมัยก่อนมีต้นไม้ชนิดนี้ขึ้นอยู่ตามลำน้ำที่บ้านร้องแงอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อลำน้ำ และต่อมาได้เรียกเพี้ยนกันไปเป็น บ้านร้องแง
ประวัติบ้านร้องแง
เดิมหมู่บ้านร้องแงอยู่ในเขตปกครองของแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งมีพญาแสนเมืองแก้ว เป็นผู้ปกครอง ต่อมาได้เกิดศัตรูบุกรุกมาทำสงคราม พญาแสนเมืองแก้วต้านทานทัพศัตรูไม่ไหว เจ้าหลวงเทพญาริน เจ้าช้างเผือกงาเขียวจึงได้ยกทัพมาช่วยต้านทานทัพศัตรู พร้อมด้วยแม่ทัพนายกอง 4 นาย คือท้าวแก้วปันเมือง ท้าววรรณะ ท้าวเหล็กไฟ และท้าวเต๋อ แต่ก็สู้ไม่ไหวจึงแตกทัพ รวบรวมไพล่พลหนีมาพร้อมกับเสนาทั้ง 4 นายถอยร่นลงมาจนถึงบริเวณลำน้ำฮ่องแง ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และมีต้นมะแงขึ้นอยู่ทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำ และมาตั้งถิ่นอาศัยอยู่ ณ ที่นี่
หมู่บ้านร้องแง มีถนนหมายเลข 1256 ผ่านกลางหมู่บ้าน อยู่ห่างจากอำเภอปัว ประมาณ 2 กิโลเมตร ลักษณะเด่นของหมู่บ้านร้องแง เป็นชุมชนที่มีเชื้อสายไทลื้อจากมณฑลยูนนาน มีวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตเป็นแบบฉบับของตนเอง เช่นการแต่งกายแบบไทลื้อ การทอผ้าใช้เอง มีภาษาพูดและลักษณะบ้านเรือนแบบไทลื้อ มีแหล่งโบราณสถานที่น่าสนใจ และยังคงอนุรักษ์ไว้ซึ่งวัฒนธรรม และประเพณีแบบดั้งเดิม
ลักษณะเด่นของวัดร้องแง
วัดร้องแง มีพระวิหารที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบพื้นถิ่น ตามแบบสกุลช่างเมืองน่าน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฝีมืองของช่างหลวง มีหลังคาซ้อน 3 ชั้น 2 ตับ มีลักษณะสร้างขื่อแปในรูปแบบ ม้าต่างไหม กล่าวคือ วางขื่อแป ไว้บนเสาทั้ง 2 ข้าง ไม่มีเสาตรงกลาง หลังคามุงด้วยไม้ลักษณะแป้นเกล็ด ลักษณะเด่นคือการประดับตกแต่งด้วยไม้แกะสลักเป็นลวดลายพรรณพฤกษาที่หน้าจั่ว และทวยรับหลังคาเป็นทวยหูช้าง สลักรูปเทวดา ยักษ์ และมนุษย์ภายในวิหาร มีเสากลมปิดทองบนพื้นสีแดง และมีศาสนวัตถุที่ทรงคุณค่า หลายอย่างเช่น พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีบันไดแก้วซึ่งมีลวดลายงดงาม มีธรรมาสเอกแบบโบราณ ไม่มีหลังคา เป็นต้น