พันท้ายนรสิงห์ เป็นนายท้ายเรือในรัชสมัยพระเจ้าเสือ หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ตอนปลายอาณาจักรอยุธยา พันท้ายนรสิงห์ มีชื่อเดิมว่า “สิน” เป็นชาวบ้านนรสิงห์ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ (ปัจจุบันคือ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง) มีภรรยาชื่อ “นวล” หรือ “ศรีนวล” ได้รู้จักกับพระเจ้าเสือด้วยการแข่งขันชกมวยไทยกัน มื่อครั้งที่พระองค์แปลงองค์มาเป็นชาวบ้านธรรมดาและทรงโปรดในอุปนิสัยใจคอของนายสิน และต่อมานายสินได้เข้ามารับราชการเป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งของพระเจ้าเสือ และมีบรรดาศักดิ์เป็น “พัน”
เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือสมเด็จพระเจ้าเสือ เสด็จประพาสปากน้ำสาครบุรี (ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสาคร) เพื่อทรงเบ็ดตกปลาตะเพียน ด้วยเรือพระที่นั่งเอกไชย และมีพันท้ายนรสิงห์เป็นนายท้าย ตามหลักฐานชุมนุมพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ว่า พันท้ายนรสิงห์เป็นชาวบ้านนรสิงห์ แขวงเมืองอ่างทอง และเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าเสือ จนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการรับใช้พระองค์อย่างใกล้ชิด
เรือโบราณ เรือขุดโบราณสร้างจากไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ มีความยาว 19.47 เมตร กว้าง 2.09 เมตร สูง 1 เมตร และกาบเรือหนา 7.5 ซ.ม. คาดว่ามีอายุกว่า 300 ปี ขุดพบที่หมู่ 6 ต.พันท้ายนรสิงห์ ในที่ดินของนายไล้ นางสมจิตร แตงถมยา ซึ่งเจ้าของเรือได้นำมาบริจาคไว้ที่ศาลพันท้ายนรสิงห์ ชาวบ้านแถวนี้เชื่อว่าเรือลำนี้อาจเป็นเรือในขบวนเสด็จหรืออาจเป็นเรือลำเลียงทหารในอดีต
การเสด็จประพาสปากน้ำสาครบุรีครั้งนี้ เมื่อเรือพระที่นั่งไปถึงตำบลโคกขาม คลองในบริเวณดังกล่าวมีความคดเคี้ยวมาก พันท้ายนรสิงห์ได้พยายามคัดท้ายเรือพระที่นั่งอย่างระมัดระวัง แต่ก็ไม่อาจหลบเลี่ยงอุบัติเหตุได้ หัวเรือพระที่นั่งได้ชนกิ่งไม้ใหญ่หักตกลงไปในน้ำ พันท้ายนรสิงห์รู้โทษดีว่าความผิดในครั้งนี้มีโทษถึงประหารชีวิตตามโบราณราชประเพณี ซึ่งกำหนดว่า “ถ้าผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่งให้หัวเรือพระที่นั่งหัก ผู้นั้นมีมรณะโทษให้ตัดศีรษะเสีย” พันท้ายนรสิงห์จึงได้กราบทูลพระกรุณาน้อมรับโทษตามพระราชประเพณีแก่พระเจ้าเสือ เมื่อพระเจ้าเสือทรงพิจารณาเห็นว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นการสุดวิสัย มิใช่ด้วยความประมาทแต่อย่างใด พระองค์จึงพระราชทานพระอภัยโทษให้ แต่พันท้ายนรสิงห์กราบบังคมยืนยันขอให้ตัดศีรษะตนเสีย เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมพระราชกำหนดกฎหมาย เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดครหาติเตียนแก่พระเจ้าอยู่หัว ที่จะทรงละเลยพระราชกำหนดของแผ่นดินและเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป
พระเจ้าเสือทรงโปรดให้เหล่าฝีพายช่วยกันปั้นดินเสมือนเป็นพันท้ายนรสิงห์แล้วให้ตัดศีรษะรูปดินนั้นเป็นการทดแทนกัน แต่พันท้ายนรสิงห์ก็ยังบังคมกราบทูลยืนยันขอให้ประหารตน แม้สมเด็จพระเจ้าเสือ จะทรงอาลัยรักน้ำใจพันท้ายนรสิงห์เพียงใด ก็ทรงจำพระทัยปฏิบัติตามคำขอของพันท้ายนรสิงห์ จึงมีพระราชกำหนดดำรัส สั่งให้เพชรฆาตประหารพันท้ายนรสิงห์ และโปรดให้ตั้งศาลขึ้นสูงเพียงตานำศีรษะพันท้ายนรสิงห์ กับหัวเรือพระที่นั่งเอกไชย ซึ่งหักนั้นขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาลนั้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แสดงถึงความซื่อสัตย์จงรักภักดี และการรักษาระเบียบวินัยยิ่งชีวิต ภายหลังเหตุการณ์นั้นสมเด็จพระเจ้าเสือ ทรงโปรดให้นำศพพันท้ายนรสิงห์มาแต่งกายพระราชทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติ
ตำนานของพันท้ายนรสิงห์นั้น ได้สร้างความศรัทธา และความนับถือ ในด้านความซื่อสัตย์และจงรักภักดี จึงควรนำความดี ความซื่อสัตย์ ของท่านพันท้ายนรสิงห์มาเป็นหลักยึดเหนี่ยวและถือปฏิบัติตน เพื่อให้มีความสงบร่มเย็นของบ้านเมือง
ปัจจุบันมีสถานที่รำลึกหรือเกี่ยวเนื่องกับพันท้ายนรสิงห์หลายแห่ง แต่ศาลพันท้ายนรสิงห์แห่งแรก ตั้งอยู่ที่บริเวณปากคลองโคกขาม ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เชื่อว่าเป็นศาลพันท้ายนรสิงห์ที่เก่าแก่ที่สุด และเป็นจุดที่เชื่อว่าพันท้ายนรสิงห์ถูกประหารชีวิต
เวลาเปิด-ปิด ศาลนท้ายนรสิงห์ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร
วันจันทร์ ถึง ศุกร์ 08.00 – 17.00 น.
วันเสาร์ อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ 08.00 – 18.00 น.
คาถาบูชาพ่อพันท้ายนรสิงห์
ตั้งนะโม 3 จบ
พ่อพันท้ายนรสิงห์เทวา สิทธิประสิทธิ เม มหาลาโภ ทุติยัมปิ
พ่อพันท้ายนรสิงห์เทวา สิทธิประสิทธิ เม มหาลาโภ ตะติยัมปิ
พ่อพันท้ายนรสิงห์เทวา สิทธิประสิทธิ เม มหาลาโภ