องค์พระปฐมเจดีย์ ตั้งอยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร ถนนเทศา ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร มีพระพุทธรูปสำคัญคือ พระร่วงโรจนฤทธิ์ องค์พระปฐมเจดีย์ มีรูปเจดีย์ทรงลังกาแบบสุโขทัย สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางเมื่อมาเยือนจังหวัดนครปฐม ถือเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัดนครปฐมและเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาของชาวพุทธ
ประวัติองค์พระปฐมเจดีย์
องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชซึ่งได้ส่งสมณฑูตมาประกาศพระพุทธศาสนา นักปราชญ์ทางโบราณคดีมีความเห็นตรงกันว่า พระโสณะเถระ และพระอุตระ ซึ่งเป็นสมณฑูตได้เดินทางมาตั้งหลักฐานการประกาศพุทธศาสนาที่นครปฐมเป็นครั้งแรกในราวพุทธศตวรรษที่ 3 แต่เดิมสร้างเป็นพระสถูปโบราณทรงบาตรคว่ำแบบเจดีย์อินเดีย และต่อมาได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบปฏิสังขรในสมัยรัชกาลที่ 4 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ทรงผนวชและได้ธุดงค์มานมัสการองค์พระเจดีย์
องค์พระเจดีย์องค์เดิม ยอดปรางค์สูง 42 วา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลาผนวช ได้ทรงเสวยราชสมบัติในราว พ.ศ.2396 ทรงโปรดให้ก่อสร้างพระเจดีย์ใหญ่หุ้ม องค์เดิมไว้ให้สูง 120 เมตร พร้อมสร้างวิหารทิศและคต พระระเบียงโดยรอบ งานไม่ทันแล้วเสร็จพระองค์ก็เสด็จสวรรคต
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ปฏิสังขรองค์พระปฐมเจดีย์ สร้างหอระฆังและประดับกระเบื้องจนสำเร็จ
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ปฏิสังขรพระวิหารหลวงเขียนภาพพระเจดีย์องค์เดิมและภาพต่างๆ ไว้ที่ผนังด้านใน ทรงโปรดให้รื้อมุขวิหารด้านทิศเหนือ และสร้างใหม่เพื่อประดิษฐาน พระร่วงโรจนฤทธิ์
ในสมัยรัชกาลที่ 7 ทรงโปรดให้สร้างพระอุโบสถใหม่ องค์พระปฐมเจดีย์เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เป็นที่เคารพสักการะของบรรดาศาสนิกชนทั่วโลก
ทางวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร กำหนดให้มีงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ในวันขึ้น 12 ค่ำ ถึงแรม 5 ค่ำ เดือน 12 รวม 9 วัน 9 คืน โดยจัดเป็นประจำทุกปี
องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่ง เป็นจุดรวบรวมของสถาบันทั้งสาม คือ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน มีพระเจดีย์เก่าแก่ 3 องค์คือ
องค์ที่ 1 เป็นเจดีย์ทรงบาตรคว่ำ สูง 18 วา 2 ศอก สร้างเมื่อปี พ.ศ. 296 สมัยพระโสณเถระ พระอุตตระเถระ มีอายุประมาณ 2,233 ปี เป็นทีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในสมัยสุวรรณภูมิ
องค์ที่ 2 เป็นเจดีย์ทรงปรางค์ สูงเท่าเขาหิน สูง 42 วา 2 ศอก สร้างเมื่อปี พ.ศ. 569 สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพญากง พญาพาน โดยพญาพานสร้างเพื่อบูชาพระคุณ มีอายุประมาณ 1,970 ปี มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ภายใน ในสมัยทวาราวดี
องค์ที่ 3 เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างครอบเจดีย์ทรงปรางค์ของเดิมเอาไว้ เมื่อปี พ.ศ. 2396 มีความสูง 120 เมตร และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ มีอายุ 143 ปี ในสมัยรัตนโกสินทร์
ประวัติพระร่วงโรจนฤทธิ์
ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระยุพราช ได้เสด็จตรวจค้นโบราณสถานในมลฑลฝ่ายเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2452 ทรงพบพระพุทธรูปชำรุดองค์หนึ่ง จมอยู่ในพื้นวิหารวัดโบราณในเมืองศรีสัชนาลัย ทรงโปรดให้ขุดขึ้น พบเศียร พระหัตต์ พระบาท ที่จมในพื้น โปรดให้เชิญลงมาที่กรุงเทพฯ ครั้งเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทำรูปหุ่นขี้ผึ้งปฏิสังขรณ์ ปั้นให้บริบูรณ์เต็มองค์ ตั้งพระราชพิธีเททองหล่อ ที่วัดพระเชตุพนฯ เมือ พ.ศ. 2456 เป็นพระยืนปางห้ามญาติหล่อด้วยโลหะ ครั้นเมื่อเสร็จจึงอันเชิญประดิษฐานมาไว้ที่ซุ้มวิหาร เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2458 ทรงถวายพระนามว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรมโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร มีส่วนสูง 12 ศอก 4 นิ้ว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าในพระราชพินัยกรรม ให้บรรจุพระอังคารของพระองค์ท่านไว้ในฐานพระนี้ด้วย
การมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ถือเป็นสิริมงคลและได้อานิงส์อย่างมากสำหรับชาวพุทธ เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ชาวนครปฐมมีความเชื่อว่าพระร่วงโรจนฤทธิ์นั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก หากใครมาขอพรอธิษฐานสิ่งใดก็มักจะได้รับสิ่งนั้นสมดังปรารถนาในทุกประการ และมีความเชื่อว่าคนที่บนบาลพระร่วงโรจนฤทธิ์แล้วได้สำเร็จตามความตั้งใจแล้วนั้น ต้องมาแก้บนด้วยการยิงปืน แต่การยิงปืนถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงให้ใช้การจุดประทัดแทน และของแก้บนอีกอย่างที่เป็นที่ทราบกันทั่วไปของชาวนครปฐม คือ ไข่ต้มสุกแล้วชุบสีแดงที่เปลือก ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วแต่ความเชื่อส่วนบุคคล
นอกจากนี้แล้วในรอบๆ บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ยังมีพระพทุธไสยาสน์องค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถด้านข้างให้สักการะอีกด้วย