วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร หรือวัดอรุณ หรืออีกชื่อคือ วัดแจ้ง เป็นวัดโบราณที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมชื่อว่าวัดมะกอก เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 8.00-18.00 น. มีค่าธรรมเนียมเข้าชมสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 100 บาท สำหรับคนไทยเข้าชมฟรี
วัดอรุณ เป็นวัดที่มีความงดงามทางด้าน ศิลปะ และมีสถาปัตยกรรมอันวิจิตรปราณีตงดงามประเมินค่าไม่ได้ มีพระปรางค์ใหญ่ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอีกจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนกรุงเทพฯ ต้องมาชม
ข้อควรรู้ก่อนมาเที่ยววัดอรุณฯ
- ควรแต่งกายด้วยความสุภาพเรียบร้อยเมื่อเข้าเยี่ยมชมวัดอรุณ
- ห้ามจับ สัมผัส หรือขูดขีดโบราณสถาน
- ห้ามนั่ง หรือ ปีนป่ายบนกำแพง/แท่นบูชา/โบราณสถาน
- ห้ามทิ้งขยะในพื้นที่โบราณสถาน
- ห้ามกระทำอนาจารภายในเขตวัด
- ห้ามให้อาหารสัตว์
- สูบบุหรี่ในพื้นที่ที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้
- พระปรางค์สามารถเข้าได้ถึงชั้น 2
- โปรดระวังโดนล้วงกระเป๋า
การเดินทางมาที่วัดอรุณโดยรถไฟฟ้าบีทีเอส และนั่งเรือด่วนเจ้าพระยา
นั่งรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สนามกีฬาแห่งชาติ – บางหว้า) มาลงที่ สถานีสะพานตากสิน (S6)
เลือกออกทางออกที่ 2 เดินไปทางซ้ายมือเพื่อไปยังท่าเรือสาทร ไปขึ้นเรือด่วนเจ้าพระยา
นั่งเรือด่วนเจ้าพระยา โดยเลือกเรือที่หันหัวเรือไปทางด้านขวามือ ไปลงที่ท่าเรือวัดอรุณ ค่าตั๋วเรือ15 บาทตลอดสาย
พระปรางค์ใหญ่วัดอรุณ เป็นศิลปกรรมที่งดงามประนีตและมีความโดดเด่น ก่อสร้างโดยช่างฝีมือที่มีความชำนาญ บนพระปรางค์ประดับด้วยเครื่องกระเบื้องเคลือบและเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ที่นำเข้ามาจากจีน ซึ่งมีลวดลายงดงามเป็นของเก่าแก่และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมา บริเวณโดยรอบพระปรางค์ใหญ่วัดอรุณ ประกอบด้วยพระปรางค์เล็ก 4 องค์ ตั้งอยู่ 4 ทิศรอบพระปรางค์ใหญ่ มีรูปปั้นมารและกระบี่แบกฐานสลับกัน
อีกหนึ่งจุดที่ห้ามพลาดเมื่อมาเยือนวัดอรุณก็คือ ”ยักษ์วัดแจ้ง” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ประจำวัดอรุณ ซึ่งเป็นรูปปั้นยักษ์ 2 องค์ยืนเฝ้าอยู่ตรงหน้าซุ้มทางเข้าพระอุโบสถ ยักษ์องค์สีขาว มีชื่อว่า “สหัสเดชะ” และยักษ์องค์สีเขียว มีชื่อว่า “ทศกัณฐ์” เป็นยักษ์ศิลปะแบบจีน ปูนปั้นประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี มือถือตะบองใหญ่เป็นอาวุธ ซึ่งสร้างไว้ตามความเชื่อในการทำหน้าที่เป็นเทพพิทักษ์ ปกปักรักษาสถานที่สำคัญทางศาสนา