จังหวัดสงขลาเป็นหนึ่งใน 5 จังหวัดที่อยู่ทางใต้สุด ของประเทศไทย มีพรหมแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ภูมิประเทศของจังหวัดสงขลาล้อมรอบด้วยทะเล ประกอบด้วยทะเลอ่าวไทย และทะเลสาปสงขลา ซึ่งเป็นทะเลสาปน้ำจืด จึงได้ชื่อว่าเมืองสองทะเล มีคำขวัญประจำจังหวัดคือ “นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า ศูนย์การค้าแดนใต้” หาดเก้าเส้ง เป็นหาดที่อยู่ในตัวอำเภอเมืองสงขลา เป็นที่ตั้งของวัดเขาเก้าแสน

วัดเขาเก้าแสน หรือ บางคนก็เรียกว่า เขาหัวนายแรง หรือเก้าเส้ง ที่แห่งนี้เองเป็นสถานที่ตั้งของหินหัวนายแรง ที่ชาวสงขลาให้ความเคารพนับถือและมาสักการะเมื่อมาที่วัดเขาเก้าแสนแห่งนี้



“หาดเก้าเส้ง” หรือ “หัวนายแรง” เป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยอีกแห่งนึงของจังหวัดสงขลา ที่หัวนายแรง ณ หาดเก้าเส้ง เป็นที่ตั้งของวัดเขาเก้าแสน เป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวสงขลานิยมมาท่องเที่ยวและให้ความเคารพนับถือ นอกจากนี้แล้วยังเป็นสถานที่ยอดฮิตของหนุ่มสาวชาวจังหวัดสงขลาที่นิยมจูงมือกันมาถ่ายรูปพรีเว็ดดิ้งเก็บไว้เป็นที่ระลึก เพราะมีทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงาม มีโขดหินรูปร่างแปลกตา และวิวทะเล 360 องศา หากมาเยือนสงขลาไม่ควรพลาดที่จะมาเที่ยวชมและขอพรที่หัวนายแรงแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง






ตำนานของหัวนายแรง

หัวนายแรง มีลักษณะเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่ริมหน้าผาบนเขาหาดเก้าเส้ง
หัวนายแรง ที่หาดเก้าเส้งแห่งนี้ยังมีตำนานเรื่องเล่าต่อกันมา กล่าวกันว่า นายแรงเป็นตัวแทน นำทรัพย์สมบัติ แก้วแหวนเงินทอง เพชรนิลจินดา จำนวนมหาศาล นับได้เก้าแสน มากับเรือสำเภาเพื่อจะไปทำบุญก่อสร้างพระบรมธาตุที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่เมื่อมาถึงจังหวัดสงขลาเกิดลมพายุเรือสำเภาล่ม ทำให้ทรัพย์สมบัติกระจัดกระจายเปียกน้ำ ใช้เวลาในการค้นหาและนำมาตากแดดเพื่อให้แห้งบนลานหิน เป็นเวลานานจนไม่ทันเวลา พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชได้ก่อสร้างเสร็จไปก่อน นายแรงหมดหวังและสิ้นใจ ณ ลานหินแห่งนี้เอง ซึ่งก่อนจะสิ้นใจได้สั่งเสียข้าทาสบริวารของตนไว้ ให้ตัดศรีษะของตัวเองปิดทับเพื่อเฝ้าทรัพย์สมบัติจำนวนเก้าแสนเอาไว้ และตั้งจิตอธิษฐานไม่ให้ใครสามารถนำทรัพย์สมบัติเหล่านี้ไปได้ ยกเว้นทายาทของนายแรงเอง จึงจะสามารถผลักหินหัวนายแรงออกไปให้ตกทะเล และนำเอาทรัพย์สินไปทำบุญแทนได้”หากใครอยากมาพิสูจน์ว่าเป็นทายาทนายแรงหรือไม่ ให้ลองผลักหินหัวนายแรงดู หากหินตกทะเลลงไปก็คือทายาทนายแรงที่แท้จริง” “หาดเก้าเส้ง ที่มาก็คือทรัพย์สมบัติจำนวนเก้าแสน นั่นเอง”

เป็นตำนานกล่าวขานเล่าบอกต่อ ตั้งแต่พ่อของพ่อแม่ของแม่ เป็นหินก้อนใหญ่ตั้งเด่นที่เห็นแล มองแค่ๆบอกได้คล้ายหัวคน เขาเก้าเส้งที่มาของคำว่าเก้าแสน คือถิ่นแคว้นที่ใครๆยังสับสน เป็นที่ตั้งหินก้อนใหญ่คล้ายหัวคน จุดเริ่มต้นที่จะกล่าวเล่า นายแรงไม่ปรากฏหลักฐานบ้านอยู่ไหน ใกล้หรือไกลก็ยังเคลือบแคลง บางคนบอกกล่าวเล่าชี้แจง ว่านายแรงท่านเป็นชาวชวา เดินทางต่างเมืองมาปัตตานี แวะไปนครศรีธรรมราชา สร้างเจดีย์บรรจุธาตุองค์ศาสดา บางท่านว่าบอกกล่าวเล่าอีกอย่าง นายแรงเกิดจังหวัดพัทลุง ชอบให้ยุ่งเพราะกินจุเป็นโคมอ่าง พ่อแม่ยากจนผู้คนฝากถามออกรับจ้างด้วยขยันและหมั่นเพียร นายแรงเป็นคนขยันท่านฉลาด ความกลัวขาดไม่มีในหัวเศียร เรื่องนายแรงไม่มีในตำราเรียน ที่ได้เขียนเพราะผู้เฒ่าเล่าบอกมา พัทลุงขึ้นตรงต่อนครศรี เมื่อภัยมีนายแรงขันอาสา ได้เป็นที่พอใจเจ้าพารา ตั้งยศฐาให้เป็นเช่นขุนทัพ ต่อมานครศรีมีประกาศ สร้างเจดีย์บรรจุธาตุให้เสร็จสรรพ พัทลุงหัวเมืองจัดขุนทัพบรรณาการคำนับเจ้านครศรี ลงสำเภาคล่องเล่นมาทะเลใน เรือชักใบเล่นตามลมสมฤดี ทั้งแก้วแหวนเงินทองข้ามากมี เอาไปนครศรีธรรมราช ถึงสงขลาเข้าคลองล่องสำโรง คือคลองหลวงข้างโรงพยาบาลประสาท หลุดปากร่องโดนคลื่นลมโถมใบขาด เรือสำเภาพินาศหมดทางไป
เก็บข้าวของขึ้นตั้งลานตากเบี้ย วางรายเรี่ยสุดที่จะขานไข ตัวนายแรงร้อนรุ่มกลุ้มอกใจ ให้แก้ไขซ่อมลำเรือสำเภา ความเสียหายมีมากใช้เวลานาน หลายทิวากาลนายแรงก็ซึมเศร้า ที่แย่แย่ทั้งซ่อมแก้เรือสำเภา วันแล้ววันเล่าไม่ทันกาลเวลา ข่าวพระเจดีย์บรรจุธาตุได้เสร็จแล้ว โอ้แหวนแก้วเงินทองของเราหนา ด้วยอำนาจศรัทธาอันแรงกล้า ทรัพย์ราคาราวๆตั้งเก้าแสน นายแรงเสียใจดังไฟสุม เล่าร้อนรุ่มเรื่องทรัพย์ก็หวงแหน ทรัพย์มากมายหามีไม่ผู้รับแทน ตั้งเก้าแสนยกให้ใครไม่ได้เลย ผลสุดท้ายมาตายเพราะกระอักเลือด ต้องดาลเดือดเพราะทรัพย์อยู่เฉยๆ ได้บอกกล่าวเล่าขานขุนทหารเอ๋ย อย่าเฉยเมยเมื่อตนสิ้นใจตาย ให้ตัดหัวของตนวางบนทรัพย์ ฝังปิดทับดินไว้มิให้หาย ห้ามผู้ใดเอาแม้เท่าเม็ดทราย จะโชคร้ายหมดสุขทุกนิรันดร์ ผู้เอาได้ต้องเป็นเช่นทายาท มีสามารถให้เห็นเป็นอัศจรรย์ ไปผลักหินหัวเราหินก้อนนั้น ตกเขาพลันมีทรัพย์ให้ได้เก้าแสน จากอดีตจนบัดนี้หามีไม่ ผู้ทำได้ให้เห็นเป็นมิ่งขวัญ ผลักหินหัวใหญ่หินก้อนนั้น ตกเขาพลันได้เห็นเป็นบุญตา ขอจบตำนานนิทานทวดนายแรง ใครเคลือบแคลงเชิญท่านไปค้นคว้า มีที่ไหนบอกมั่งจะไปหา กราบวันทางามๆสักสามที
ร.ต.กิตติธัช มณีโชติ ผู้ประพันธ์
