ปีเถาะเป็นปีที่สี่ของปีนักษัตร (ธาตุไม้) มีสัญลักษณ์เป็นรูป “กระต่าย” สำหรับคนเกิดปีเถาะมีพระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน หากมีโอกาสได้มาเที่ยวในเมืองน่าน ควรมาสักการะองค์พระธาตุแช่แห้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่าน ให้ได้สักครั้ง เพื่อเป็นการเสริมบุญบารมีให้เกิดความเป็นสิริมงคลในชีวิต พระธาตุแช่แห้งประดิษฐานอยู่ ณ อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเตี้ย ๆ
ประวัติพระธาตุแช่แห้ง
ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไค้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย และทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง
พระธาตุแช่แห้ง พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวน่าน สันนิษฐานว่ามี อายุราว 600 ปี พญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1891 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้มาจากกรุงสุโขทัย องค์พระธาตุมีความสูง 55.5 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 22.5 เมตร บุด้วยทองเหลืองหมดทั้งองค์ เป็นโบราณสถานที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของล้านนา ทุกปีจะมีงานนมัสการพระบรมธาตุแช่แห้ง ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำเดือน 6 ทางเหนือ ซึ่งจะอยู่ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคมของทุกปี
วัดพระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่าน ตั้งอยู่บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง เป็นพระธาตุที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
ลักษณะสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุแช่แห้ง(ปัจจุบันอยู่ในการบูรณะซ่อมแซม) สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากพระธาตุหริภุญไชย(ลำพูน) เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำบนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส
ในวัดพระธาตุแช่แห้ง นอกจากองค์พระธาตุแช่แห้งแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกหลากหลาย อาทิ พระเจ้าทันใจ พระวิหารหลวง พระเจ้าล้านทอง พระพุทธไสยยาสน์ ฯลฯ
วิหารพุทธไสยาศน์ อยู่ทางด้านหน้านอกกำแพงแก้วขององค์พระธาตุแช่แห้ง ก่อสร้างตามแนวยาวขององค์พระ มีประตูทางเข้าด้านหลังคือ ทิศใต้
บทสวดบูชาพระธาตุแช่แห้ง (ประจำปีเถาะ)
(ตั้งนะโม 3 จบ)
ยาธาตุภูตา อะตุลานุภาวา
จีรัง ปะติฎฐิตา นันทะกัปปะเกปุเร
เทเวนะ คุตตา วะระพุทธะธาตุง
จิรัง วันทามิ หันตัง
ชินะธาตุโย โสตะถาคะตัง
อะหังวันทามิ สัพพะทา
อะหัง วันทามิ ทูระโต (สวด 3 จบ)