เที่ยวน่าน ไหว้สักการะพระธาตุแช่แห้ง พระธาตุประจำคนเกิดปีเถาะ (กระต่าย)

ปีเถาะเป็นปีที่สี่ของปีนักษัตร (ธาตุไม้) มีสัญลักษณ์เป็นรูป “กระต่าย” สำหรับคนเกิดปีเถาะมีพระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน หากมีโอกาสได้มาเที่ยวในเมืองน่าน ควรมาสักการะองค์พระธาตุแช่แห้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่าน ให้ได้สักครั้ง เพื่อเป็นการเสริมบุญบารมีให้เกิดความเป็นสิริมงคลในชีวิต พระธาตุแช่แห้งประดิษฐานอยู่ ณ อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเตี้ย ๆ

วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน
วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน

ประวัติพระธาตุแช่แห้ง

ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไค้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย และทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง

พระธาตุแช่แห้งองค์เดิม
พระธาตุแช่แห้งองค์เดิม

พระธาตุแช่แห้ง พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวน่าน สันนิษฐานว่ามี อายุราว 600 ปี พญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1891 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้มาจากกรุงสุโขทัย องค์พระธาตุมีความสูง 55.5 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 22.5 เมตร บุด้วยทองเหลืองหมดทั้งองค์ เป็นโบราณสถานที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของล้านนา ทุกปีจะมีงานนมัสการพระบรมธาตุแช่แห้ง ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำเดือน 6 ทางเหนือ ซึ่งจะอยู่ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคมของทุกปี

วัดพระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่าน ตั้งอยู่บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง เป็นพระธาตุที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า

พระธาตุแช่แห้ง
พระธาตุแช่แห้ง

ลักษณะสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุแช่แห้ง(ปัจจุบันอยู่ในการบูรณะซ่อมแซม) สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากพระธาตุหริภุญไชย(ลำพูน) เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำบนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส

ในวัดพระธาตุแช่แห้ง นอกจากองค์พระธาตุแช่แห้งแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกหลากหลาย อาทิ พระเจ้าทันใจ พระวิหารหลวง พระเจ้าล้านทอง พระพุทธไสยยาสน์ ฯลฯ

วิหารพุทธไสยาศน์
วิหารพุทธไสยาศน์

วิหารพุทธไสยาศน์ อยู่ทางด้านหน้านอกกำแพงแก้วขององค์พระธาตุแช่แห้ง ก่อสร้างตามแนวยาวขององค์พระ มีประตูทางเข้าด้านหลังคือ ทิศใต้

พระพุทธไสยยาสน์
พระพุทธไสยยาสน์

บทสวดบูชาพระธาตุแช่แห้ง (ประจำปีเถาะ)

คำไหว้องค์พระธาตุแช่แห้ง
คำไหว้องค์พระธาตุแช่แห้ง

(ตั้งนะโม 3 จบ)
ยาธาตุภูตา อะตุลานุภาวา
จีรัง ปะติฎฐิตา นันทะกัปปะเกปุเร
เทเวนะ คุตตา วะระพุทธะธาตุง
จิรัง วันทามิ หันตัง
ชินะธาตุโย โสตะถาคะตัง
อะหังวันทามิ สัพพะทา
อะหัง วันทามิ ทูระโต (สวด 3 จบ)

Leave a Reply